หมอบอกว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม แต่ยังไม่ถึงระยะที่ต้องผ่าตัด
แล้วฉันจะดูแลตัวเองอย่างไรดี
สวัสดีครับ บทความสุขภาพวันนี้
เป็นเรื่องที่สำคัญและสามารถนำไปใช้ได้กับผู้ป่วยสูงอายุได้เป็นอย่างดี
เมื่อทราบว่ามีสภาวะโรคข้อเข่าเสื่อม (ซึ่งพบได้บ่อยมากๆ) ในสังคมผู้สูงอายุ
นั่นก็คือเรื่องของการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นด้วยวิธีไม่ผ่าตัด หรือที่เรียกว่า
“การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม”
การรักษาด้วยวิธีการอนุรักษ์นิยมนี้
ไม่มีวิธีใดที่สามารถหยุดยั้งการดำเนินโรคได้นะครับ ผิวข้อที่เกิดอาการสึก เสื่อมไปแล้ว จะไม่สามารถกลับมาสู่สภาวะเหมือนตอนสาวๆหนุ่มๆได้
แต่จุดประสงค์ของการรักษาแบบ วิธีอนุรักษ์นิยม นี้มีเป้าหมายเพื่อลดอาการปวด
ลดอาการข้อฝืด ติด ไม่เรียบลื่นระหว่างขยับ ให้ผู้ป่วยกลับไปใช้งานข้อได้สบายขึ้น
แบ่งเป็นสองอย่างง่ายๆคือ รักษาแบบไม่ใช้ยา (non-pharmacological treatment) กับใช้ยาร่วมด้วย (pharmacological treatment) นั่นเอง
การรักษาแบบไม่ใช้ยา ที่สำคัญได้แก่
1) การให้ความรู้ความเข้าใจเน้นเรื่อง วัตถุประสงค์ของการรักษา ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิถีการดำรงชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการพับเพียบ การนั่งยอง การนั่งลงกับพื้น การนั่งขัดสมาธิ โดยหากจำเป็นต้องทำกิจกรรมการนั่งควรเลือกการนั่งเก้าอี้มาใ้ช้แทน
2) การลดน้ำหนัก หากลดไม่ได้ ก็คุมไม่ให้เพิ่มก็ยังดีครับ
3) การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาโดยการฝึกเหยียดเข่าเกร็งค้างไว้ สัก 10-15 วินาที อย่างสม่ำเสมอ
4) ใช้เครื่องช่วยพยุงเดิน ไม้เท้าต่างๆ เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการเดิน ลดโอกาสเกิดการพลัดตกหกล้มได้ด้วย
5) การใช้ผ้ารัดเข่า อาจจะต้องตรวจเป็นบางราย หากมีความยืดย้วยของเอ็นรอบเข่าด้านข้างเข่า ผ้ารัดเข่าจะมีประโยชน์ในด้านเพิ่มความมั่นคงของรอบข้อเข่าด้วย
ส่วนการรักษาด้วยยา มีหลายชนิด ได้เช่น ยาแก้ปวด แก้อักเสบชนิดต่างๆ
ซึ่งจะมีข้อบ่งชี้และควรมีการคัดกรองก่อนที่จะได้ยา
โดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัวเป็น โรคไตพกพร่อง โรคกระเพาะ หรือ
มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ควรหลีกเลี่ยงยากลุ่มนี้
ยากลุ่ม SYSADOA , ยาฉีดเข้าข้อเข่า ฯลฯ
การรักษาด้วยการใช้ยามีรายละเอียดซับซ้อนในการดูแล ดังนั้น หากจำเป็นต้องเริ่มรักษาด้วยการใช้ยา ข้อแนะนำคือควรไปพบแพทย์ก่อน ไม่ควรไปหาซื้อยามาทานเองต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเกิดผลเสียที่เราคาดไม่ถึงได้ครับ
// หมอปุ้ม